คนจน กับ ทางออกของสังคมไทย

โดย นิธิ เอียวศรีวงค์

วิธีคิดของทุนนิยมเสรีทำให้เรามักมองความยากจนจากแง่ของปัจเจกบุคคล คือมีคนจำนวนหนึ่งยากจน นั่นก็คือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่รัฐต่างๆ กำหนดขึ้น และอาจนำไปสู่ข้อสรุปว่า ในสังคมไหนๆ ก็มี คนรวยคนจนเป็นธรรมดา

แต่ความยากจนที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งโลกในเวลานี้ไม่อาจเข้าใจได้จากมุมมองของปัจเจกบุคคล เพราะ ความยากจนของโลกปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากนโยบายพัฒนา ซึ่งมหาอำนาจใช้องค์กรด้านการเงินและ การค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือผลักดัน

ความยากจนในแง่นี้หมายถึงความไร้สมรรถภาพของผู้คนที่จะเข้าถึงทรัพยากรอันจำเป็นในการดำรงชีวิต เพราะตัวนโยบายพัฒนาได้แย่งเอาทรัพยากรที่เขาใช้อยู่ไปให้คนอื่นใช้ เช่นเอาแหล่งจับปลาไปทำเขื่อน ไฟฟ้า หรือทำลายทรัพยากรชายฝั่งเพื่อสังเวยนายทุนเลี้ยงกุ้งหรือนายทุนเรือปลากะตัก เป็นต้น

ในที่สุดคนเหล่านี้ก็พึ่งตนเองไม่ได้ และไร้อำนาจทั้งในตลาดและในการเมือง

อย่านึกว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนระดับล่างเท่านั้น คนชั้นกลางอาจเป็นกลุ่มแรกๆ ที่สะสมทรัพ ยากรใหม่ให้ตนเองได้สำเร็จ คือการศึกษา จึงทำให้ได้รับผลกำไรจากนโยบายพัฒนาในสัดส่วนที่สูง

แต่ในปัจจุบัน ประตูสู่การศึกษากำลังมีราคาแพงมากขึ้น และการศึกษาในระดับที่คนชั้นกลางทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ก็กำลังมีมูลค่าเพิ่มน้อยลงทุกที ปริญญานอกกลายเป็นความจำเป็นมากขึ้น แม้กระทั่งมหา วิทยาลัยของรัฐบางแห่งหันไปร่วมมือผลิตปริญญาตรีกับต่างประเทศ โดยยอมเป็นเหมือน Junior Collage ให้มหาวิทยาลัยอเมริกัน

ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางการศึกษาของไทยซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งลดน้อยถอยลง ในขณะเดียว กัน การศึกษาในฐานะทรัพยากรของคนชั้นกลางก็กำลังกลายเป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่ได้มากขึ้น นั่นก็คือ ความยากจนตามความหมายดังที่กล่าวข้างต้นกำลังกลายเป็นสมบัติของคนชั้นกลางจำนวนมากขึ้น แม้ว่า รายได้ที่เป็นตัวเงินอาจไม่ได้ลดลงก็ตาม

กล่าวโดยสรุป ความยากจนที่ปรากฏในสังคมไทยและทั่วโลกเวลานี้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ใช่ ปัญหาของปัจเจก

และเมื่อวิเคราะห์ความยากจนเชิงโครงสร้างแล้ว ก็พบว่ามีที่มาจากหลายทางด้วยกัน นับตั้งแต่ในทาง วัฒนธรรมไทยปัจจุบันซึ่งสอนให้รังเกียจคนจน (เพราะเมื่อมองคนจนในเชิงปัจเจก ก็จะเห็นแต่ความบก พร่องของเขา) และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่พร้อมจะให้สิทธิเสมอภาคแก่คนจน เช่นไม่ยอมรับอำนาจที่เท่า เทียมกันในทางสติปัญญา ในเชิงเทคโนโลยี ในเชิงการต่อรองในตลาด และในทางการเมือง (ปิดถนนเลว ร้ายแต่การวอล์กเอาต์หรือไม่ยอมเปิดเผยสัญญาเป็นหน้าที่และความชอบธรรม)

นโยบายพัฒนาที่มุ่งแต่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่คนจำนวนน้อย โดยการที่รัฐแย่งชิงเอาทรัพยากรจากคน ส่วนใหญ่ไปบำเรอผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยตลอดเวลา ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของความยากจนในเมือง ไทย ยิ่งคนจนไร้อำนาจก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาได้เลย ดังเช่นทีมผู้ยกตัวอย่าง จากการศึกษามูลค่าน้ำในเขื่อนที่สร้างอ่างเก็บน้ำบางแห่งว่า น้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตรจะมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 40-20 กว่าบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาไปใช้ในการผลิตอะไรให้กำไร

แต่ที่สามารถทำได้ก็เพราะผลักภาระต้นทุนส่วนใหญ่ไปให้ประชาชนโดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยต่าง หาก

กระแสบริโภคนิยมที่ครอบงำสังคมอย่างกว้างขวาง ก็มีส่วนทำให้ทรัพยากรร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว และ ทรัพยากรของคนอ่อนแอถูกแย่งเอาไปอย่างชอบธรรม ในขณะเดียวกันก็ทำให้ “ประชาสังคม” ของคนชั้น กลางซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ฟูมฟายมีส่วนทำร้ายคนจนอยู่ไม่น้อย จนไม่อาจเป็นที่หวังได้ว่า ประชาสังคมที่เข้ม แข็งเพียงอย่างเดียวจะแก้ปัญหาความยากจนได้

ความเฉยเมยของสื่อต่อชะตากรรมของคนจนดูจะเป็นตัวอย่างอันดีของ “ประชาสังคมเข้มแข็ง” แม้ว่าสื่อจะ พัฒนาไปมากในทุกทาง รวมทั้งการมีหลักประกันของเสรีภาพที่มั่นคงขึ้น แต่สื่อก็ยิ่งละเลยที่จะรายงาน ความเป็นไปในภาคประชาชนมากขึ้น

ความยากจนมีมูลเหตุมาจากการตัดสินใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่กระทบถึงการจัดการทรัพยากร ใน ขณะที่คนจนไร้อำนาจที่จะเข้าไปร่วมในการตัดสินใจ ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยากจนเป็นผลผลิต ของการเมือง ตราบเท่าที่คนจนยังไร้อำนาจก็เป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดความยากจนไปจากประเทศไทย

นโยบายโอนอ่อนต่อแรงกดดันของมหาอำนาจโลกาภิวัตน์ ยิ่งทำให้ทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีวิตถูก ดึงเข้าไปสู่ตลาดมากขึ้น เช่นเงื่อนไขเงินกู้ ADB ที่กำหนดให้เก็บค่าน้ำแก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ ทำให้น้ำเป็น สินค้าซึ่งอาจมีนายทุนมาลงทุน “พัฒนา” ลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำเพื่อทำกำไรได้ในอนาคต

ทั้งนี้ไม่ต่างจากการนำเอาที่ดินเข้าสู่ตลาดเต็มที่ ซึ่งดำเนินมาก่อนหน้านี้นานแล้ว และเป็นผลให้ที่ดินหลุด จากมือเกษตรกรไปเป็นอันมาก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณว่าคนจนจะเข้าไปถึงแม้แต่ทรัพยากรระดับพื้น ฐานในการดำรงชีวิต

ทางออกของสังคมไทยจากความอยากจนนั้นมีหลายประเด็นด้วยกัน แต่ประเด็นหนึ่งที่เห็นพ้อง ต้องกันหลายฝ่ายคือความรู้

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเพียงการกระจายโอกาสการศึกษาให้ทั่วถึงเท่านั้น แต่มีการชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริง แล้วส่วนหนึ่งของอำนาจที่ใช้ในการแย่งชิงทรัพยากรจากผู้คนจนเขากลายเป็นคนจนนั้น คือการสร้าง ความรู้ด้วยการบิดเบือน ดังเช่นกรณีผลกระทบทางเศรษฐกิจของเขื่อนปากมูลนี้ ก็มีสถาบันวิจัยมีชื่อแห่ง หนึ่งออกมารับรองว่า เขื่อนปากมูลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นดีขึ้น

ทั้งนี้สถาบันวิจัยดังกล่าวอาศัยข้อมูล จปฐ. ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าจำกัดมาก และการสำรวจในช่วงเวลาที่ ชาวบ้านบางกลุ่มเพิ่งได้รับเงินค่าชดเชยไป อาศัยการนับทรัพย์สมบัติที่จับต้องได้ เช่นมอเตอร์ไซค์, ตุ่ม น้ำ ฯลฯ เพื่อวัดคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยไม่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงในชีวิต ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหายไปพร้อมกับแหล่งประมงขนาดใหญ่ของปากมูล

ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้แหละ ที่ทำให้การแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชนกลายเป็นการพัฒนา ความ หายนะของผู้คน กลายเป็นคุณภาพชีวิต การประท้วงต่อต้านของประชาชนกลายเป็นความวุ่นวายและความ เห็นแก่ตัว รายงาน FJA กลายเป็นเครื่องประดับที่ต้องทำขึ้นตามกฎหมายเท่านั้น ฯลฯ

ฉะนั้นจึงต้องสร้างความรู้ที่ถูกต้องและเป็นจริงขึ้นถ่วงดุลกับความรู้บิดเบือนเหล่านั้น จะต้องมี การสร้างเครือข่ายของนักวิชาการและชาวบ้านและสื่อเพื่อสร้างและขยายความรู้ที่ถูกต้องเหล่านี้แก่ สังคมในวงกว้าง

ชาวบ้านจะรอแต่สื่อหลักซึ่งถูกผลประโยชน์ทางธุรกิจชี้นำอย่างหนักเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ คนจนและพันธ มิตรต้องคิดถึงการสร้างสื่อทางเลือกให้มากขึ้น นับตั้งแต่การรื้อฟื้นสื่อพื้นบ้านซึ่งชาวบ้านมีความรอบรู้อยู่ แล้ว ไปจนถึงการใช้สื่ออย่างใหม่ที่รัฐและธุรกิจคุมได้ยาก เช่นอินเตอร์เน็ตหรือเทปใต้ดิน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ทางการเมือง คือการขยายพันธมิตรทั้งทางแนวนอน คือสร้างเครือข่ายให้กว้างขวางในหมู่ชาว บ้านทั่วประเทศ และองค์กรประชาชนจากชนชั้นอื่น และทางแนวตั้งเพื่อจะทำให้เกิดความเข้าใจและการ หนุนช่วยจากคนในสังคมให้กว้างขวางขึ้น

ทุกครั้งที่รัฐสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ทางด่วน ถนน นิคมอุตสาหกรรม โรงเผาขยะ ฯลฯ รัฐมักอ้างว่าประชาชนในท้องถิ่นควรเสียสละเพื่อชาติ

แต่ชาติคือใคร ถ้าไม่ใช่คนเล็กคนน้อยในท้องถิ่นซึ่งถูกเบียดขับให้พลัดที่นา คาที่อยู่ หรือสังเวยชีวิตปกติ สุขของตัวไปให้แก่การเบนทรัพยากรให้แก่คนจำนวนน้อยได้ใช้ เมื่อรวมคนเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่ ในป่า ในท้องนา ไปจนถึงกลางกรุงเทพฯแล้ว

นี่คือคนส่วนใหญ่และนี่คือชาติ

ที่ผ่านมา เราถูกทำให้คิดว่าคนคือจุดสะดุดหรือส่วนปลีกย่อยของชาติ ความคิดเช่นนี้เป็นอุปสรรคที่จะเข้า ใจและสร้างนโยบายอันเอื้อต่อคนจนได้

ตรงกันข้าม เราควรเข้าใจว่า แท้จริงแล้วคนจนนั่นแหละคือชาติ การขจัดความยากจนคือการขจัดศัตรูที่ แท้จริงของชาติ และมีความสำคัญกว่าการสร้างความมั่งคั่งของชาติ

ซึ่งจะกระจุกตัวอยู่กับคนจำนวนน้อยเท่านั้น (จากการสัมมนา “คนจนกับทางออกของสังคมไทย” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและเครือข่ายแม่น้ำเอเชียอาคเนย์ ร่วมกับสมัชชาคนจน ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 ระหว่าง 20-21 เมษายน 2543)

 

 

Leave a comment