ลัทธิสังคมนิยมกับสงคราม

โดย วี ไอ เลนิน แปลโดย อุยยาม ศศิธร

แต่ท่านลองวาดภาพเจ้าทาสผู้หนึ่งที่มีทาส 100 คน ทำสงครามกับเจ้าทาสอีกผู้หนึ่งที่มีทาส 200 คน เพื่อให้มีการจัดสรรทาส”ที่เป็นธรรม” มากขึ้น. เห็นได้ชัดว่า การนำคำว่าสงคราม”ป้องกันตัว”, หรือสงคราม”เพื่อพิทักษ์ปิตุภูมิ”, มาใช้ในกรณีเช่นนี้ย่อมจะเป็นความผิดทางประวัติศาสตร์, และในทางปฎิบัติก็มีแต่จะเป็นการหลอกลวงประชาชนธรรมดาสามัญ,หลอกลวงผู้ที่ไร้การศึกษา,หลอกลวงตาสีตาสาโดยทาสเจ้าเล่ห์เท่านั้น. ชนชั้นนายทุนจักรพรรดินิยมปัจจุบันก็กำลังหลอกลวงประชาชนประเทศต่าง ๆ อยู่อย่างนี้เองโดยอาศัยความคิดในทาง”ชาติ” และคำว่า “พิทักษ์ปิตุภูมิ” ในสงครามปัจจุบันระหว่างพวกเจ้าทาสเพื่อปกป้องและเสริมความเข้มแข้งให้แก่ระบอบทาส.

สงครามปัจจุบันเป็นสงครามจักรพรรดินิยม

เกือบทุกคนยอมรับว่า สงครามครั้งนี้เป็นสงครามจักรพรรดินิยม, แต่ส่วนใหญ่แล้วคำ ๆ นี้กลับถูกบิดไปหรือใช้กลับอีกฝ่ายหนึ่ง, หรือมีช่องทางเหลือไว้ให้กล่าวได้ว่า, อย่างไรก็ดี,สงครามครั้งนี้อาจมีความหมายในทางปลดปล่อยประชาชาติที่ก้าวหน้าแบบชนชั้นนายทุนก็ได้.

จักรพรรดินิยมคือ ขั้นสูงสุดในพัฒนาการของทุนนิยม, ซึ่งเพิ่งบรรลุในศตวรรษที่ 20 นี้เอง.บัดนี้ทุนนิยมได้พบว่า รัฐประชาชาติแบบเก่านั้นคับเกินไปทั้ง ๆ ที่รัฐประชาชาติแบบเก่านี้ หากมิได้สถาปนาขึ้นมาแล้วก็ไม่ย่อมโค่นล้มระบอบขุนนางลงได้. ทุนนิยมได้พัฒนาการรวมศูนย์ไปจนถึงระดับที่ซินดิเคท, ทรัสต์, และสมาคมต่าง ๆ ของบรรดามหาเศรษฐีนายทุนได้เข้ายึดเอาอุตสาหกรรมแขนงต่าง ๆ ไว้หมด, และโลกเกือบทั้งโลกก็ได้ถูกเชือดเฉือนแบ่งปันกันในหมู่เจ้าแห่งทุนไปหมดสิ้น, ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเมืองขึ้นหรือด้วยการผูกมัดประเทศอื่น ๆ ไว้ในสายใยนับพัน ๆ เส้นแห่งการขูดรีดทางการคลัง. การค้าอย่างเสรีและการแข่งขันถูกแทนที่ด้วยการต่อสู้เพื่อผูกขาด, เพื่อยึดครองดินแดนสำหรับการลงทุน, เพื่อแย่งชิงตลาดวัตถุดิบจากดินแดนเหล่านั้น, ฯลฯ.

จากการเป็นผู้ปลดปล่อยประชาชาติที่ทุนนิยมต่อสู้กับระบอบขุนนางนั้น ทุนนิยมจักรพรรดินิยมได้กลายเป็นผู้กดขี่ประชาชาติรายใหญ่ที่สุด. จากที่เคยก้าวหน้า, ทุนนิยมได้แปรเปลี่ยนเป็นปฏิกิริยา; มันได้พัฒนาพลังการผลิตไปจนถึงระดับที่ว่ามนุษยชาติต้องเผชิญกับทางเลือก 2 ทาง, ไม่ไปสู่ระบอบสังคมนิยมก็ต้องทรมานอยู่กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธนับเป็นปี ๆ และกระทั่งสิบ ๆ ปีระหว่าง “มหาอำนาจ” ต่าง ๆ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบทุนนิยมอย่างฝืน ๆ โดยอาศัยเมืองขึ้น, การผูกขาด,อภิสิทธิ์และการกดขี่ทางประชาชาติทุกประเภท

Leave a comment